โครงสร้าง และวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม
เส้นผมเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายที่มีความสำคัญ เพราะสามารถบ่งบอกถึงความมั่นใจ และบุคคลิกภาพได้เป็นอย่างดี แม้ว่าปกติเส้นผมจะมีอัตราการร่วงเฉลี่ยอยู่ที่ 50 – 100 เส้น แต่จะมีการงอกขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเส้นผมที่หลุดร่วงไป บทความนี้จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงสร้าง และวงจรการเติบโตของเส้นผมมากขึ้น
โครงสร้างของเส้นผม
โครงสร้างของเส้นผม ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยกรดอะมิโนและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น คาร์บอน, ไฮโดรเจน, ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, ซัลเฟอร์ ที่มีผลในการป้องกันหนังศีรษะ อาการคัน ผมแห้ง, ผมมัน, ผมแตกปลาย, ผมเสีย, ผมร่วง หรือการเกิดรังแค โดยโครงสร้างหลักของเส้นผมจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
รากผม (Hair root)
รากผม (Hair root) จะเป็นส่วนต้นของเส้นผมที่อยู่ภายในรูขุมขนใต้ชั้นผิวหนังศีรษะ ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ไปจนถึงชั้นหนังแท้ (Dermis) มีหน้าที่สร้างเส้นผมให้สุขภาพดี มีเส้นใหญ่ ดกดำหนา และแข็งแรง
ต่อมผม (Hair follicle)
ต่อมผม (Hair follicle) ถือว่าเป็นอวัยวะที่มีขนาดเล็กไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา มักถูกฝั่งอยู่ภายในหนังศีรษะ มีหน้าที่หลักในการสร้างผมเส้นใหม่ ทดแทนเส้นผมที่หลุดร่วง รวมถึงเป็นตัวกำหนดสีของเส้นผม ฉะนั้นจึงควรรับสารอาหารให้เพียงพอเพื่อให้เส้นผมได้มีการพัฒนาและเจริญเติมโตได้อย่างเต็มที่
ลำต้นผม (Hair shaft)
ลำต้นผม (Hair shaft) จะเป็นส่วนที่งอกออกมาปกคลุมทั่วหนังศีรษะ หรือเรียกว่าเซลล์ผมที่ตายไปแล้วโดยมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่นผมเหยียดตรง, ผมหยิก, ผมหยักศก, ผมสีดำเข้ม, ผมสีบลอนด์, หรือผมสีน้ำตาล ซึ่งมีส่วนประกอบแยกย่อยออกมา 3 ชั้นได้แก่
- ผิวนอก (Cuticle)
- เนื้อชั้นนอก (Cortex)
- แกนผม (Medulla)
วงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม
วงจรการเติบโตของเส้นผม (Hair Growth Cycle) สามารถแบ่งออกมาได้ 3 ระยะ ดังต่อไปนี้
ระยะ Anagen (ระยะเติบโต)
ระยะเติบโตของเส้นผม จะเป็นช่วงที่ผมงอกยาวเร็วโดยมีต่อมรากผมสร้างเซลล์เส้นผมขึ้น มีอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุดประมาณ 1 เซนติเมตร/เดือน และบนหนังศีรษะของคนเราจะมีเส้นผมอยู่ที่ 100,000 – 150,000 เส้น ทั้งหมดมีระยะเวลาในการเติบโตประมาณ 3 – 7 ปี (ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล)
ระยะ Catagen (ระยะพัก)
ระยะพัก หรือสิ้นสุดการเจริญเติบโตของเส้นผม จะเป็นช่วงที่ผมของทุกคนไม่สามารถงอกยาวมากไปกว่าเดิมได้อีก เกิดจากต่อมรากผมหยุดการแบ่งเซลล์ แต่ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เพราะไม่ส่งผลทำให้ผมร่วง และมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์จากเส้นผมทั้งหมดที่เข้าสู่ระยะพักเท่านั้น
ระยะ Telogen (ระยะหลุดร่วง)
ระยะหลุดร่วง จะเป็นผลมาจากต่อมผมมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาใหม่ ทำให้เส้นผมเดิมร่วงออก แต่หากต่อมผม หรือหนังศีรษะมีความผิดปกติอาจทำให้เกิดปัญหา ผมบาง ผมล้าน หรือผมหลุดร่วงมากเป็น 2 เท่า(ขึ้นอยู่กับกรรมพันธ์ุ การใช้ชีวิต และความหนาแน่นของเส้นผมในแต่ละบุคคล)
ปัญหาเส้นผมที่พบบ่อย
ปัญหาเส้นผมมีอยู่มากมาย สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละบุคคล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนไข้กังวลใจเป็นอย่างมาก มักมีปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
ผมร่วง
ผมร่วง เป็นปัญหาสุดคลาสสิคที่สามารถพบเจอได้ทุกช่วงวัย จริง ๆ แล้วเส้นผมของเรามักจะร่วงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 – 100 เส้น/วัน ถ้าสังเกตเห็นว่ามากกว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธ์ุ, อายุ, รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็อาจส่งผลทำให้ผมร่วงได้
ผมบาง
ผมบาง เป็นผลโดยตรงมาจากฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นภาวะความเครียด, โรคบางชนิด หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้เส้นผมมีขนาดเล็กลงจน เหมือนคนผมบางได้
ผมเสีย
ผมเสีย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผมแตกปลาย, ผมแห้ง, หรือผมชี้ฟู มักเป็นผลมาจากการใช้สารเคมี การย้อมผม มลพิษทางอากาศ ฝุ่น ควัน ร่วมไปถึงเส้นผมไม่ได้รับการบำรุงอย่างถูกต้อง ทำให้เส้นผมขาดความชุ่มชื้นจนแห้งเสียได้
รังแค
รังแค สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่นสภาพอากาศ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับหนังศีรษะ ความเครียด และมีเชื้อราสะสมเป็นจำนวนมาก มักทำให้เกิดอาการคัน มีเศษขุย หรือแผ่นหนังร่วงจากศีรษะ
ผมมัน
ผมมัน จะมีลักษณะเด่นชัด คือเส้นผมดูลื่น มันวาว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ช่วงมีประจำเดือน หรือช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้การสระผมบ่อยมากไป หรือไม่สระผมเลย ก็ส่งผลทำให้ผมมันได้เหมือนกัน
ผมหงอก
ผมหงอก จะมีลักษณะที่เห็นได้เด่นชัด คือเส้นผมกลายเป็นสีขาว หงิกงอไม่มีความแข็งแรง สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ช่วงอายุ ความเครียดสะสม กรรมพันธุ์ และการขาดสารอาหารประเภทวิตามิน
ผมขาดความชุ่มชื้น
ผมขาดความชุ่มชื้น หรือปัญหาผมแห้งเสีย เกิดจากเส้นผมไม่สามารถกักเก็บความชื้นได้ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการจัดแต่งทรงผมโดยใช้ความร้อน, การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมกับเส้นผม หรืออยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ผมแห้งชี้ฟู ดูไม่มีน้ำหนัก
วิธีการดูแลเส้นผมอย่างถูกต้อง
ปัญหาเส้นผมไม่ควรปล่อยให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต หรือสร้างความกวนใจ จึงอยากแนะนำการดูแลเส้นผมแบบถูกวิธี เพื่อลดโอกาสผมขาดร่วง และฟื้นฟูเส้นผมให้กลับมาสุขภาพแข็งแรง โดยมีทริคง่าย ๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านดังนี้
- แนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับหนังศีรษะ จะช่วยป้องกันปัญหาผมเสีย และขาดร่วงได้
- ควรสระผมให้ถูกวิธี ไม่ควรขยี้แรง ๆ
- หลีกเลี่ยงการสระผมโดยใช้น้ำเย็น หรือน้ำร้อน ควรใช้อุณหภูมิปกติ
- แนะนำให้ใช้ครีมนวด หรือหมักผมด้วยทรีทเมนต์ เพื่อป้องกันผมเสียแห้งชี้ฟู
- แนะนำให้เช็ดผมอย่างเบามือ และเป่าผมให้แห้งทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการดึงมัดผมที่แน่นมากจนเกินไป เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้
- แนะนำให้ใช้กรรไกรเล็มปลายผมประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร อย่างน้อย 1 – 2 เดือน จะช่วยแก้ไขปัญหาผมแตกปลายได้
- ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ เพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงเส้นผมให้แข็งแรง
- แนะนำให้ใช้เซรั่มที่มีส่วนช่วยบำรุงเส้นผม หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามิน และแร่ธาตุ
- แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 – 8 ชม. และหลีกเลี่ยงการเครียด จะช่วยป้องกันปัญหาเส้นผมขาดร่วงได้
- ควรดูแลเส้นผมอย่างสม่ำเสมอ
การปลูกผมคืออะไรและใครที่ควรต้องทำ
การปลูกผมเป็นทางออกที่ดีสำหรับแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผมร่วง, ผมบาง, ผมเสีย, หรือศีรษะล้าน ให้กลับมามีความมั่นใจในรูปลักษณ์ รวมถึงคนที่ต้องการปรับบุคลิกภาพให้เหมาะสม
การปลูกผม คือ
การปลูกผม (Hair Transplantation) คือ การศัลยกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาผมบาง ผมร่วงเป็นกระจุก ศีรษะล้าน โดยการย้ายเซลล์รากผมที่แข็งแรง หรือมีเส้นผมหนาอย่างบริเวณท้ายทอย ไปปลูกยังตำแหน่งที่มีผมบาง หรือหัวล้าน จะสามารถช่วยให้เส้นผมงอกขึ้นใหม่แบบถาวร และดูธรรมชาติ
วิธีการปลูกผม
วิธีการปลูกผมที่ได้รับความนิยมจะมีอยู่ด้วยกัน 3 เทคนิค คือ การปลูกผมแบบ FUE ,การปลูกผมแบบ FUT และการปลูกผมแบบ DHI ซึ่งขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยทั้ง 3 เทคนิคมีความแตกต่างกันดังนี้
- การปลูกผมแบบ FUE
การปลูกผมแบบ FUE (Follicular Unit Extraction) จะเน้นการใช้เครื่องมือพิเศษที่มีขนาดเพียง 0.8 – 1.2 มิลลิเมตร เจาะเก็บเส้นผมทีละเส้น หรือแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ บริเวณเส้นผมที่มีความแข็งแรง ก่อนนำไปปลูกบริเวณที่มีปัญหา เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ได้มาตรฐานสากล หลังผ่าตัดปลูกผมไม่ทิ้งรอยแผล ผมดูสวยเส้นหนา และมีความธรรมชาติสูง
- การปลูกผมแบบ FUT
การปลูกผมแบบ FUT (Follicular Unit Transplantation) เป็นการปลูกผมแบบดั้งเดิม ใช้ประสบการณ์และความสามารถของแพทย์เป็นหลัก สามารถย้ายเซลล์รากผมได้จำนวนมากในครั้งเดียว ส่วนมากจะใช้เส้นผมบริเวณท้ายทอยไปปลูกยังตำแหน่งที่ต้องการ อาจมีรอยแผลให้เห็นเล็กน้อย แต่ถ้าผมงอกขึ้นใหม่ก็จะปกคลุมปิดรอยแผลจนสังเกตไม่เห็น
- การปลูกผมแบบ DHI
การปลูกผมแบบ DHI (Direct Hair Implantation) จะเน้นแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัด เนื่องจากจะต้องเจาะนำเอากอผมประมาณ 1 – 4 เส้น ไปปลูกยังบริเวณที่ต้องการ โดยใช้เครื่องพิเศษ สามารถปลูกผมให้สำเร็จได้ภายในครั้งเดียว อีกทั้งยังช่วยป้องกันเซลล์รากผมเสียหายจากการปลูกได้เป็นอย่างดี
ใครที่เหมาะสมกับการปลูกผม
การปลูกผมสามารถทำได้ทั้งผู้ชาย – ผู้หญิง ไม่จำกัดเพศ รวมถึงคนที่มีอายุมาก หรือน้อยก็ทำได้เช่นกัน เพียงแค่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นผม ก็สามารถเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมได้เลย แล้วใครบ้างที่เหมาะกับการปลูกผมไปดูกัน
- คนที่มีปัญหาผมร่วงจำนวนมาก หรือผมหลุดร่วงเป็นกระจุก
- คนที่มีปัญหาผมบาง ผมเส้นเล็ก จากอายุที่มากขึ้น
- คนที่มีปัญหาศีรษะล้านตั้งแต่กำเนิด หรือหัวล้านจากกรรมพันธุ์
- คนที่มีปัญหาผมแห้ง ผมเสีย เส้นผมชี้ฟู
- คนที่ผ่านการคลอดบุตร หรือฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง
- คนที่มีปัญหาในการเข้าสังคม หรือขาดความมั่นใจในทรงผม และรูปลักษณ์ภายนอก
การเตรียมตัวและการดูแลหลังปลูกผม
การเตรียมตัว และการดูแลตัวเองหลังปลูกผม แพทย์จะเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด คนไข้ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแนวทางการเตรียมตัวกับการดูแลตัวเองหลังปลูกผมมีดังต่อไปนี้
การเตรียมตัวก่อนปลูกผม
- ควรแจ้งประวัติเกี่ยวกับโรคประจำตัว หรือยาที่รับประทานเป็นประจำให้แพทย์ทราบ
- งดการรับประทานยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด และอาหารเสริมทุกชนิด อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 – 4 สัปดาห์
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ หรือเป็นเสื้อติดกระดุม เพื่อให้สะดวกในการสวม – ถอด
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง
การดูแลตัวเองหลังปลูกผม
- แนะนำให้ใช้เจลเย็นประคบบริเวณรอบ ๆ แผลผ่าตัด เพื่อลดอาการบวม
- หลีกเลี่ยงการสระผมอย่างน้อย 1 – 2 เดือน เนื่องจากอาจส่งผลทำให้ผมที่ปลูกได้รับความเสียหาย
- แนะนำให้นอนหมอนสูงกว่าปกติ หรือใช้หมอนรองคออย่างน้อย 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกดทับแผลผ่าตัดปลูกผม
- หลีกเลี่ยงการย้อมผม หรือใช้สารเคมี อย่างน้อย 6 เดือน หรือจนกว่าผมที่ปลูกจะเข้าที่
- แนะนำให้รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- แนะนำให้สวมสายรัดหัวตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันฝุ่นควัน หรือเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส แคะ แกะ เกาแผลผ่าตัด หรือบริเวณหนังศีรษะ
- งดการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลทำให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง หรืออยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
สรุป
เส้นผม รากผม ต่อมผม รูขุมขน ล้วนเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากพอ ๆ กับหนังศีรษะ เพราะสามารถส่งผลกระทบกับวงจรการเติบโตของเส้นผมได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผมเสีย, ผมแห้ง, ผมร่วง, ผมบาง, ผมแตกปลาย, ผมมัน, ผมหงอก, อาการคันหนังศีรษะ, หรือรังแค ควรใส่ใจดูแลฟื้นฟู และบำรุงด้วยเซรั่ม, สารอาหาร, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม, การบำบัด, การปลูกผม เพื่อให้สุขภาพเส้นผมแข็งแรง เงางามอย่างธรรมชาติ
แหล่งอ้างอิง
Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Hair
บทความโดย
โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช :โรงพยาบาลศัลยกรรมความงามชั้นนำของไทยและเอเชีย ที่ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด เราพร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และดูแลคุณอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การผ่าตัดโดยทีมแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมาตรฐานการรักษาพยาบาลระดับสากล AACI
ข้อมูลการติดต่อ
ตั้งอยู่ที่ 99/19 ถนนสุไขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300